หน้าเว็บ

ความขัดแย้งภายในครอบครัว



ความขัดแย้งภายในครอบครัว



          ภาระอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของคนเราก็คือ การสร้างครอบครัวให้มีความสุข มั่นคงยืนนาน เลี้ยงดูอบรมบุตรธิดาให้มีความเจริญสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป เมื่อครอบครัวดี สังคมก็ดี ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย การที่จะสร้างครอบครัวให้มีความสุขสมบูรณ์ได้นั้น พ่อแม่มีส่วนสำคัญ มาก เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาท และกำหนดบทบาทของคนในครอบครัวให้ดำเนินชีวิตไปตามขอบเขต หรือความคิดอ่านของคู่สามีภรรยา ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างความสุขในครอบครัว ก็คือความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา ซึ่งจะส่งผลกระทบมาที่ตัวลูกและสมาชิกทุกคนในครอบครัว ฉะนั้น จึงควรมาศึกษาและหาทางแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อที่จะไม่ให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว พอแยกได้ว่ามาจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ
1. นิสัยและความเคยชินส่วนตัว เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงกันยากมาก เพราะเป็นนิสัยติดตัวมานาน เคยปฏิบัติซ้ำๆ มาแล้วในอดีต ถึงแม้จะเปลี่ยนได้ แต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นสามีภรรยาจะต้องยอมรับ และทำใจให้ได้แล้วปรับตัวเข้าหากัน ผ่อนสั้นผ่อนยาว ถึงจะอยู่ด้วยกันยืนยาว
2. ขาดความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ สมัยก่อนสามีมีบทบาทเป็นผู้นำ หาเงินเลี้ยงครอบครัว ปัจจุบันสตรีมีบทบาทในการทำงาน หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเช่นกัน แต่สตรีก็ยังต้องมารับผิดชอบงานในบ้าน และอบรมสั่งสอนบุตรธิดาอีก จึงทำให้บางครั้งภรรยารู้สึกหงุดหงิด และจุกจิกจู้จี้ไปบ้าง ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ และสามีบางคนก็ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง คอยตำหนิ ดุด่าภรรยาว่าไม่อบรมเลี้ยงดูบุตร ทั้งๆ ที่งานอบรมเลี้ยงดูบุตรก็เป็นหน้าที่โดยตรงของทั้งพ่อและแม่ ฉะนั้น ทั้งสองคนต้องช่วยเหลือกันในการอบรมเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนการงานในบ้านที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3. ไม่มีเวลาให้กันและกัน เนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างมีภารกิจต้องทำงาน บางทีก็แยกกันอยู่ ทำให้ไม่มีเวลาพูดคุย รับรู้สารทุกข์สุกดิบของกันและกัน ครอบครัวจึงควรมีวันแห่งครอบครัว สัปดาห์ละ 1 วัน หรือแล้วแต่ตกลงกัน มีเวลาอยู่พร้อมหน้ากัน พ่อ แม่ ลูก มีกิจกรรมร่วมกัน
4. ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาในครอบครัว ได้แก่ การทะเลาะ ดุด่า ข่มขู่ จนกระทั่งลงมือตบตีกัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการพูดยั่วยุของฝ่ายหญิง ทำให้ฝ่ายชายโกรธจนทนไม่ได้ ลงมือทำร้าย เพื่อระงับเหตุ

ความรุนแรงในครอบครัว



ความรุนแรงในครอบครัว  หมายถึง  การกระทำหรือพฤติกรรมการทำร้ายกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยเจตนา  มีผลกระทบต่อร่างกายเป็นสำคัญรวมทั้งการทำร้ายกันทางด้านจิตใจและอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
การทำร้ายร่างกาย  เริ่มจากการทุบตี  ตบ  เตะ  ต่อย  ทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตการทำร้ายทางด้านจิตใจและอารมณ์  ด้วยการพูดจาก้าวร้าว  ดูหมิ่นดูแคลน  เสียดสีล้อเลียน  โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย  การข่มขู่  คุกคาม  กักขัง  หน่วงเหนี่ยว  กีดกัน  ไม่ให้พบปะสังสรรค์ญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง  การเพิกเฉยหรือละเลย  การกดขี่ข่มเหงจิตใจ  ทำให้อีกฝ่ายมีความกลัว  หวาดระแวง  อารมณ์หวั่นไหว  เศร้าซึม  รวมทั้งการบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจด้วยการไม่สนับสนุนหรือให้เงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
                   ระดับความรุนแรง  เริ่มตั้งแต่การทะเลาะวิวาท  การทำร้ายร่างกาย  และการทำลายชีวิต

ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
          ความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ  เช่นเดียวกับฝนตก  แดดออก  เมื่อมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ความขัดแย่งย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้  เพราะคนเรามีความแตกต่างกันทั้งในด้านความคิดและการอบรมเลี้ยงดูความขัดแย้งในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณเตือนภัยถึงรอยร้าวของมพันธภาพภายในครอบครัว  ความรุนแรงในครอบครัวเป็นการแสดงออกของความรู้สึกขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้
          ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นพฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เป็นประสบการณ์ด้านบวกเพื่อรักษาสัมพันธภาพและความรัก  ความเป็นมิตรที่มีต่อกันให้แน่นแฟ้นด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจพร้อมที่จะให้อภัยในความผิดพลาดหรือความเข้าใจผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้ว


อ้างอิง : สุวชัย อินทรประเสริฐ. (2535). การวางแผนครอบครัวประชากรและเทคโนโลยีการคุมกำเนิด. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น