การคุมกำเนิด (Contraception) คือ เทคนิคหรือวิธีการที่ใช้ในการการป้องกันการตั้งครรภ์หรือขัดขวางการตั้งครรภ์ โดยอาศัยกลไกในการป้องกันหลายกลไก เช่น การป้องกันไม่ให้อสุจิกับไข่เกิดการปฏิสนธิ การป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ การป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกของสตรี รวมไปถึงการทำแท้งเพื่อนำตัวอ่อนออกจากมดลูกด้วย การคุมกำเนิดจึงเป็นหนึ่งในการวางแผนครอบครัวอย่างหนึ่งโดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดจำนวนการมีบุตร ซึ่งการคุมกำเนิดนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน และทำได้ทั้งหญิงและชาย
ประโยชน์ของการคุมกำเนิด
1. เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก
2. เพื่อสุขภาพที่ดีของพ่อแม่ การมีลูกห่างกันจะมีผลดีต่อพ่อแม่ในเรื่องของสุขภาพ เพราะคุณแม่จะได้มีโอกาสพักฟื้นร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม มีทรวดทรงกลับมาคล้ายตอนยังไม่มีลูกมากที่สุด แต่การมีลูกติดกันเกินไป ร่างกายของ
คุณแม่จะทรุดโทรม สุขภาพไม่ดี ดูแก่ก่อนวัย อาจมีอาการแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์และในขณะคลอดได้ เช่น ลูกคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิต ตกเลือด มีเลือดจาง ติดเชื้อหลังคลอด ฯลฯ และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานนอกบ้านของคุณแม่ เพราะจะส่งผลในเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือได้โบนัสน้อยลง เพราะคุณแม่ต้องหยุดงานบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการลาไปตรวจครรภ์ ลาป่วย ลาคลอด ฯลฯ ซึ่งบางบริษัทอาจถึงขั้นเลิกจ้างไปเลยก็มี ส่วนคุณพ่อนั้นนอกจากจะต้องขยันทำมาหากินเพื่อให้ได้เงินมาดูแลครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม ก็ยังต้องมีเวลารับผิดชอบในการดูแลแม่และลูกน้อยมากขึ้นด้วย และยังต้องช่วยคุณแม่ทำงานบ้านหรือดูแลบ้าน ซึ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของคุณพ่ออย่างแน่นอน
3. เพื่อสุขภาพของลูก การที่คุณแม่มีลูกถี่เกินไปก็จะมีปัญหากับลูกที่ต้องเลี้ยงดูอยู่เดิมและลูกซึ่งกำลังจะคลอดตามมาติด ๆ เพราะในขณะที่ลูกคนแรกยังไม่ทันโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ คุณแม่ก็เริ่มตั้งท้องใหม่แล้ว จึงทำให้คุณแม่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลลูกได้ดีเท่าที่ควร คุณแม่บางรายอาจต้องหยุดให้นมแม่แล้วหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน ลูกจึงมีโอกาสท้องร่วงและติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งลูกวัยนี้เป็นวัยกำลังซนด้วยแล้ว โอกาสประสบอุบัติเหตุก็มีมากขึ้นหากไม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ตกบันได ตกน้ำ โดนน้ำร้อนลวก ฯลฯ และยังอาจเกิดผลเสียทางด้านจิตใจกับลูกด้วย คือลูกคนแรกที่ยังเล็กอยู่จะเกิดอิจฉาน้อง ไม่รู้จักโต งอแง หรือคอยรังแกน้อง จนเกิดเป็นผลเสียในระยะยาว เพราะลูกวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจและรักน้อง นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ระบุว่า “เด็กที่เกิดตามกันมาติด ๆ จะมีไอคิวหรือความฉลาดโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีลูกห่าง ๆ” (เข้าใจว่าสารอาหารและแร่ธาตุสำคัญต่อการพัฒนาสมองของลูกมีไม่เพียงพอ เพราะถูกใช้ไปกับการตั้งครรภ์และการคลอด)
การคุมกำเนิดถาวร
1. การทำหมันหญิง (Female sterilization or tubal ligation)
การทำหมันหญิง เป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ทำโดยการผ่าตัดเพื่อผูกและตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง (tubal ligation resection) เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ในท่อนำไข่ได้ การทำหมันหญิงมีหลายวิธี แต่ที่นิยมคือ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเข้าทางผิวหนังหน้าท้อง (minilaporotory method) และการใช้เสียงกล้อง laparoscope (laparoscopic sterilization)
ช่วงเวลาการทำหมันหญิง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะหลังคลอด (puerperal period) และระยะปกติ (non- puerperal period/ interval sterilization) ระยะหลังคลอด เป็นการผ่าตัดทำหมันหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการผ่าตัดทำหมันทันทีภายหลังคลอดบุตร (delivery room tubal sterilization) ซึ่งจะทำได้ง่าย เพราะมดลูกอยู่สูงที่ระดับสะดือ แผลผ่าตัดอยู่ที่ใต้ขอบสะดือ ทำให้ทำได้ง่าย และไม่มีแผลเป็น ใช้ยาสลบน้อย เพราะได้รับยาระงับปวดขณะคลอดอยู่แล้วและลดเวลาที่จะนอนพักในโรงพยาบาลด้วย ส่วนการทำหมันภายหลังคลอดบุตร 24-48 ชั่วโมง (post-partum tubal resection) ยังเป็นช่วงที่มดลูกลอยตัวอยู่ และอยู่ในระดับสะดือ หรือต่ำกว่าเล็กน้อย
การทำหมันหญิงหลังคลอดนี้ คนทั่วไปนิยมเรียก “หมันเปียก” เนื่องจากเป็นช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ยังมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากมดลูก แสดงว่า มดลูกยังเปียกอยู่จึงเรียกว่าหมันเปียก ส่วนการทำหมันในระยะปกตินิยมเรียกว่า “หมันแห้ง”
การทำหมันหญิง (Female Sterilization) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ปลอดภัย มีอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์น้อยมาก เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หลังทำหมันก็สามารถทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามยกของหนักในช่วง 3-4 วันแรกเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามอื่น ๆ สามารถร่วมเพศได้เลย เพราะให้ผลในการคุมกำเนิดแบบทันที ไม่ต้องรอนาน 3-4 เดือนเหมือนที่เข้าใจกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้
• การทำหมันหลังคลอด (การทำหมันเปียก) เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร โดยนิยมทำในช่วง 48 ชั่วแมงแรกหลังการคลอดบุตร เนื่องจากสามารถทำได้โดยง่าย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดโตลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยมทำกันก็คือ การลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แล้วทำการผูกท่อนำไข่และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัดประมาณ 6-7 วัน จึงมาตัดไหม ส่วนคนที่ผ่านท้องคลอด แพทย์จะทำหมันไปพร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมาทำใหม่อีก ซึ่งจะต้องนอนพักในโรงพยาลประมาณ 4-5 วัน และแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะฉะนั้นผู้ที่คิดจะทำหมันด้วยวิธีนี้จะต้องคิดและตัดสินใจให้แน่วแน่ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเสร็จจะได้ทำหมันได้เลย
• การทำหมันปกติ (การทำหมันแห้ง) เป็นการทำหมันในระยะที่ไม่ใช่ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร มดลูกจะมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดจึงมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันเปียก แต่ก็ใช้เวลาทำไม่นานครับ เพียงแค่ 10-15 นาที เมื่อทำเสร็จแล้วหมอจะให้นอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย พร้อมกับให้ยาแก้ปวดไปกิน อีกประมาณ 6-7 วันจึงค่อยกลับมาให้หมอตัดไหม ซึ่งการทำหมันแห้งก็สามารถทำได้โดยารผ่าตัดหน้าท้อง (Laparotomy) และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy)
• การทำหมันหญิงแบบอุดท่อนำไข่ (Essure) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 2 วิธีแรก โดยจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไข่กับสเปิร์มมาเจอกัน โดยใช้วัตถุขนาดเล็กที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ สอดเข้าไปในท่อนำไข่ โดยใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก ใส่เข้าไปทางช่องคลอด ผ่านปากมดลูก เพื่อสร้างปฏิกิริยากระตุ้นให้ร่างกายให้สร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อนำไข่ ซึ่งจะใช้เวลาในการทำเพียง 5 นาทีเท่านั้น หลังทำเสร็จก็ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดแต่อย่างใด และเพียงชั่วเวลา 3 เดือนหลังทำหมัน เนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ขดลวดก็จะเจริญเติบโตจนท่อนำไข่ถูกอุดตันลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากใส่อุปกรณ์เข้าไป ผู้ทำหมันสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อรอให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อรังไข่ได้ทั้งหมดก่อน
• การทำหมันหญิงโดยการตัดมดลูก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกไปจากร่างกาย (ไม่รวมรังไข่) ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบถาวร และวิธีนี้ยังใช้สำหรับการรักษาโรคบางโรคได้อีกด้วย เช่น มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
ข้อดีของการทำหมันหญิง
• การทำหมันหญิงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนครอบครัว
• เป็นวิธีที่ประหยัด สะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด และไม่ต้องเสียเวลาใน
• การเข้ารับบริการการคุมกำเนิด
• เนื่องจากไม่ใช้วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน จึงช่วยลดโอกาสการเกิดผลช้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนได้
• ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการมีเพศสัมพันธ์
• ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
ข้อเสียของการทำหมันหญิง
• ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
• หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
• ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
การทำหมันชาย เป็นการคุมกำเนิดด้วยการทำให้ท่อน้ำอสุจิทั้งสองข้างเกิดการอุดตัน หรือตัดไม่ให้เชื่อมต่อกัน (Vasectomy) ทำให้ตัวอสุจิผ่านไปไม่ได้ การทำหมันชายเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ปลอดภัยมีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีอาการแทรกซ้อนน้อยมาก การทำหมันชายไม่ใช่การตอนและไม่มีผลต่อลูกอัณฑะ และไม่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ
การทำหมันชายจะแบ่งได้หลายวิธี วิธีการใหญ่ๆ สามารถแยกได้ 2 วิธี คือ
การทำหมันชายวิธีดั้งเดิม (Conventional technique) เป็นการผ่าตัดด้วยการกรีดผิวหนังที่ median raphe ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร แล้วแหวกเนื้อเยื่อรอบๆท่ออสุจิ แล้วผูกและตัดท่อนำอสุจิเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านได้
ส่วนการทำหมันเจาะ (non-scalpel vasectomy technique) เป็นการตัดท่อนำอสุจิโดยการใช้ ฟอร์เซพ ชนิด dissecting forceps แทรกทะลุผิวหนังของถุงอัณฑะ เพื่อเข้าไปตัดท่อนำอสุจิ แทนการผ่าตัดด้วยการใช้ใบมีด ทำให้เป็นแผลเพียงเล็กน้อย มีภาวะแทรกซ้อน (การติดเชื้อและการคั่งของเลือด) น้อย
การทำหมันชาย (Male sterilization) คือ การคุมกำเนิดถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้ แต่ทั้งนี้ลูกอัณฑะยังคงผลิตเชื้ออสุจิและฮอร์โมนอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวอสุจิจะไม่สามารถเดินทางผ่านท่ออสุจิมาได้ และจะสลายตัวไปเองตามกรรมวิธีของร่างกาย โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำกามก็ยังคงมีเหมือนเดิมตามปกติครับ
ข้อดีของการทำหมันชาย
• เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่าการทำหมันหญิง ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถูก เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ผ่าตัดเพียงครั้งเดียว สามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต (แต่ก็ไม่ 100%)
• การทำหมันชายเป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย มีความปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง
• ช่วยเพิ่มความสุขทางเพศหลังการทำหมัน คู่สมรสรู้สึกมีอิสระในการร่วมรักกันมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากคู่สมรมไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์
• ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย เนื่องจากการผ่าตัดไม่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหรือเกี่ยวกับการสร้างหรือการใช้ฮอร์โมนเพศของร่างกายแต่อย่างใด
• ไม่มีผลต่อพละกำลังในการทำงานหนัก คุณสามารถทำงานหนักตามปกติ
• ไม่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งของผู้ทำหมันและของภรรยา
ข้อเสียของการทำหมันชาย
• หลังทำหมันแล้วจะต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา
• ในบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดทำหมันชายได้ตามที่กล่าวไป แต่ก็พบได้น้อยมาก หรืออาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลที่ผ่าตัดได้
• หากทำหมันไปแล้วการแก้หมันจะได้ผลไม่ดี
• ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
อ้างอิง : FAMILY PLANNING NSW. “ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง”.
[ออนไลน์]. www.fpnsw.org.au. [09 ต.ค. 2015].
(นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ). “การฉีดยาคุมกำเนิด”. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.bangkokhealth.com. [08 ต.ค. 2015].
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิร). “การฉีดยาคุมกำเนิด”. [ออนไลน์]. haamor.com.
[08 ต.ค. 2015].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น